/ อยุธยา / พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
แนะนำที่พักเขาใหญ่ ปากช่อง อัพเดตล่าสุด

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา

ที่เที่ยวแนะนำ
ที่เที่ยวแนะนำ

            พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา: พิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่เก็บเครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะ พระบรมสารีริกธาตุจากวัดมหาธาตุ และโบราณวัตถุสำคัญของชาติทั้งที่ค้นพบในพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง

            พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาสร้างขึ้นจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เนื่องจากในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จพระราชดำเนินวัดราชบูรระ หลังจากที่ทรงทอดพระเนตรเห็นโบราณวัตถุจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทรงมีพระราชปรารภกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและอธิบดีกรมศิลปากรว่าโบราณวัตถุจากโบราณสถานในอยุธยาควรมีพิพิธภัณฑ์ในอยุธยาจัดแสดง ไม่ควรนำไปเก็บไว้ที่อื่น กรมศิลปากรจึงสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อเก็บโบราณวัตถุจากกรุวัดราชบูรณะและโบราณสถานอื่นๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จเปิดพิพิธภัณฑ์ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2504 โดยโปรดให้อัญเชิญพระนามเจ้าสามพระยา หรือสมเด็จพระบรมราชาธิบดีที่ 2 มาเป็นชื่อพิพิธภัณฑ์

สิ่งที่น่าสนใจภายในพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาแบ่งออกเป็น 4 อาคาร ได้แก่

▌อาคารจัดแสดง 1

เป็นอาคารสองชั้น ชั้นบนจัดแดงโบราณวัตถุต่างๆ ชั้นล่างเป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการ โดยมีโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น

  • เศียรพระวัดธรรมิกราช เศียรพระวัดธรรมิกราชเป็นเศียรที่ใหญ่ที่สุดในอยุธยา เฉพาะเศียรมีความสูง 2 เมตร เศียรดังกล่าวสร้างขึ้นด้วยศิลปะอู่ทอง ซึ่งเกิดจากการนำศิลปะเขมรมาผสมผสานกับศิลปะลพบุรี กรมศิลปากรได้อัญเชิญเศียรมาจากวัดธรรมิกราช วัดพระอารามหลวงที่สร้างโดยพระเจ้าธรรมมิกราช พระราชโอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้งผู้สร้างวัดพนัญเชิง จุดเด่นของวัดธรรมิกราชคือมีเจดีย์สิงห์ล้อม 52 ตัว
  • พระบรมสารีริกธาตุจากกรุวัดมหาธาตุ พระบรมสารีริกธาตุนี้ ในปี พงศ. 1927 สมเด็จพระราเมศวรได้อัญเชิญมาบรรจุใต้ฐานประประธานวัดมหาธาตุ พระบรมสารีริกธาตุอยู่ในผอบหินสีม่วงบนบัลลังก์ 5 ชั้น ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในอาคาร 1 ทางทิศตะวันตก
  • เครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะ เครื่องทองกรุวัดราชบูรณะเป็นเครื่องราชูปโภคที่เจ้าสามพระยาโปรดให้บรรจุลงในสถูปของพระเชษฐาที่สิ้นพระชนม์เนื่องจากการแย่งชิงบัลลังก์ เช่น พระแสงดาบทองคำ เครื่องราชูปโภคทองคำ ช้างทรงทองคำ และเครื่องราชบรรณาการจากอาณาจักรอื่นๆ เครื่องทองเหล่านี้เก็บรักษาอยู่ทางทิศตะวันออกของอาคาร 1 ส่วนใหญ่ยึดมาได้จากโจรขุดกรุ
  • งานแกะสลักเครื่องไม้ เช่น ประตูไม้แกะสลักวัดพระศรีสรรเพชญ์ และครุฑโขนเรือพระที่นั่งสมัยอยุธยา

▌อาคารจัดแสดง 2

เป็นอาคารจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุที่น่าสนใจ เช่น ตำราสมุดไทยขาว และตำราสมุดไทยดำ โดยตำราสมุดไทยก็คือสมุดข่อย กระดาษทำจากเยื่อต้นข่อย นำมาพับไปพับมา ทำให้แต่ละหน้าติดกันได้โดยไม่มีการเย็บ สมุดไทยขาวเป็นสีธรรมชาติจากต้นข่อย ส่วนสมุดไทยดำเกิดจากการนำถ่านผสมแป้งข้าวเจ้านำไปตั้งไฟจนมีลักษณะเหมือนแป้งเปียกจากนั้นนำไปทาทับบนสมุดขาว

▌อาคารจัดแสดง 3

เป็นอาคารนิทรรศการจัดแสดงเกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อการจัดการโบราณวัตถุ และนิทรรศการสนับสนุนการท่องเที่ยววัดสำคัญในอยุธยาทั้งหมด 7 วัด

▌ศาลาไทย

ศาลาไทยภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการที่จะมีหัวข้อใหม่หมุนเวียนกันไปในแต่ละปี เช่น ในปี 2560 ที่ผ่านมาจัดแสดงในหัวข้อ “เครื่องทองอยุธยา มรดกของโลก มรดกของแผ่นดิน” ส่วนในปี 2561 นี้กำลังจัดแสดงหัวข้อ “จารึก” อยู่ โดยโบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูป หรือเครื่องจานชาม มักมีการจารึกตัวอักษรลงไปบนนั้น โดยตัวอักษรในสมัยนั้นแตกต่างจากปัจจุบัน ทางพิพิธภัณฑ์จึงจัดแสดงและจัดคำแปลจารึกบนโบราณวัตถุเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ


ค่าใช้จ่าย

ค่าเข้าชม: คนไทย 30 ต่างชาติ 150 บาท การเข้าชมเป็นหมู่คณะติดต่อล่วงหน้า 3 วันอาจได้รับการยกเว้นค่าเข้าชม

เวลาทำการ

เวลาเปิด-ปิด: เปิดทุกวัน 09.00-16.00 น.

วิธีการเดินทาง

จากเทศบาลเมืองอยุธยา ขับตรงมาตามถนนเทศบาลอโยธยา เข้าเจดีย์วงเวียนวัดสามปลื้มใช้ทางออกที่ 3 สู่ถนนอยุธยา-อ่างทาง/ โรจนะ วิ่งตรงมาตามถนน 309 ข้ามแม่น้ำป่าสัก เลี้ยวขวาก่อนถึงถนนสรรเพชญ์ เลี้ยวซ้าย พิพิธภัณฑ์จะอยู่ทางขวา ระยะทาง 5.6 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 12 นาที

แผนที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา และสถานที่อื่นๆใน อยุธยา

GPS: 14.351169, 100.561809
- สถานที่ปัจจุบัน - สถานที่แนะนำ - สถานที่อื่นๆ

แชร์ประสบการณ์ตะลอนของคุณได้ที่นี่