Site icon Go Out ไปเที่ยวกันเถอะ

บ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ โบราณสถานสำคัญของราชทูตกรีก

Photo by Supanut Arunoprayote from commons.wikimedia.org/wiki/File:Ban_Wichayen_(I).jpg [CCSA4.0]

การที่ชาวต่างชาติสักคนจะเข้ามารับราชการในเมืองไทยในสมัยก่อนจัดว่าเป็นเรื่องยากมาก แต่การที่ “คอนสแตนติน ฟอลคอน” ชาวกรีกนอกจากจะทำได้ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์แล้ว ชาวกรีกผู้นี้ยังได้เป็นถึง “เจ้าพระยาวิชาเยนทร์” และเป็นที่โปรดปรานจนได้รับพระราชทานที่อยู่เป็นพิเศษทางด้านทิศตะวันตกของบ้านหลวงรับราชทูต “บ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์” แห่งนี้ จึงเป็นอีกแหล่งประวัติศาสตร์ไทยที่น่าศึกษา

          ซากปรักหักพังที่คนรู้จักและเรียกกันติดปากว่า บ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์นั้น แท้ที่จริง เป็นบ้านของหลวงที่ปลูกสร้างไว้เพื่อต้อนรับราชทูต สภาพที่คงเหลืออยู่ทำให้เห็นว่า เป็นโครงสร้างก่ออิฐที่แข็งแรง มีการโบกปูนทับ สร้างตามแบบยุโรป เมื่อเดินชมจะพบว่าที่ข้างผนังจะมีเจาะเป็นช่องเล็กๆ คล้ายสามเหลี่ยม มีความเป็นไปได้ว่า เป็นจุดที่มีไว้สำหรับวางอุปกรณ์ให้แสงสว่างยามค่ำคืน เนื่องจากในยุคนั้นยังไม่มีไฟฟ้าเหมือนในปัจจุบัน

ถ้ามองไปโดยรอบยังคงเห็นโครงสร้างของที่นี่ มี 3 ส่วน มีความเป็นส่วนตัวในรั้วรอบขอบชิด ตามประวัติศาสตร์ผนวกกับการวิเคราะห์ของผู้รู้ มีการบันทึกว่า ใน 3 ส่วนดังกล่าว ประกอบด้วย ทิศตะวันตก เป็นที่พักส่วนตัวของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์และท้าวทองกีบม้า ผู้เป็นภรรยา มีลักษณะเป็นกลุ่มอาคารที่น่าจะดูหรูหราภูมิฐานในอดีต เพราะเป็นตึกหลังใหญ่ มี 2 ชั้น และยังมีอาคารชั้นเดียว ลักษณะแคบยาว ในส่วนของซุ้มประตูทางเข้า มีลักษณะโค้งครึ่งวงกลม

ใกล้ๆ กันที่เรียกว่าส่วนกลาง มีโบสถ์ที่เชื่อว่าเป็นโบสถ์หลังแรกของคริสต์ศาสนาที่มีลักษณะการสร้างผสมผสานระหว่างคติชาวพุทธและสถาปัตยกรรมของยุโรป ในยุคเรเนซองส์ อีกสิ่งปลูกสร้างขนาดเล็กใกล้ๆ น่าจะเป็นหอระฆัง

ด้านทิศตะวันออก ที่เป็นกลุ่มอาคารสองชั้นเช่นกัน จึงเป็นส่วนที่ใช้เป็นที่พักรับรองราชทูตตามวัตถุประสงค์  ลักษณะการก่อสร้างเป็นแนวยุโรปเช่นกัน

สลับกับความเก่าแก่ของซากปรักหักพังที่น่าทึ่งว่า ผ่านมาเนิ่นนานยังเหลือซากไว้ให้คนรุ่นหลังสนใจใคร่รู้ได้ขนาดนี้ สภาพแวดล้อมที่ถูกตกแต่งขึ้นใหม่และดูแลอย่างดี ทำให้เห็นความเขียวของต้นไม้ใหญ่และใบหญ้า ทำให้ที่นี่ไม่แห้งแล้งเกินไปจนนักท่องเที่ยวเกิดอารมณ์หดหู่ อีกทั้งมีป้ายขนาดใหญ่ มีภาพของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ และประวัติการก่อสร้างที่แห่งนี้ให้อ่านกัน

การที่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ได้รับฐานะพิเศษกว่าข้าราชการในราชสำนักเหล่าอื่นนั้น บ่งบอกถึงสถานะ ความเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์ แต่ตามประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้กลับมีอีกมุมหนึ่งของชีวิตไปในด้านลบ ซึ่งมีความขัดแย้งและสร้างความกังขาให้ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ยุคหลังเกิดความสงสัย เนื่องจากพื้นฐานมุมมองเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ก็คือ ถูกเขียนโดยผู้ชนะ ในช่วงเปลี่ยนรัชกาล ภาพของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์จึงอยู่ในฐานะผู้ทรยศ แตกต่างราวขาวกับดำ อีกทั้งคำถามว่า ทำไมชื่อของโบราณสถานแห่งนี้จึงยังคงเรียกขานกันว่า บ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ โดยไม่หายไปจากประวัติศาสตร์หลังเสียชีวิต เป็นเรื่องที่ผู้สนใจจะศึกษาข้อเท็จจริงต่อไป

สุดท้ายแล้ว หัวใจของการไปเยือนโบราณสถานยังคงอยู่ที่เรื่องราวเบื้องหลังสิ่งปลูกสร้างว่าเป็นมาอย่างไร มากกว่าเพียงซากปรักหักพังที่เห็นด้วยตา

ที่ตั้ง

ถนน วิชาเยนทร์ ตำบล ท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี ลพบุรี 15000 ห่างจากเทวสถานปรางค์แขกประมาณ 200 เมตร

Exit mobile version